Skip to content Skip to footer

คู่ของเราถือว่ามีบุตรยากแล้วหรือยังนะ?

คู่ของเราถือว่ามีบุตรยากแล้วหรือยังนะ ?

คู่สมรสหลายคู่มีคำถามที่คาใจว่าต้องอยู่ด้วยกันมานานแค่ไหนถึงจะเรียกว่าเป็นคู่สมรสที่มีบุตรยาก คู่ของเราถือว่าเข้าเกณฑ์แล้วหรือยัง แล้วเมื่อไหร่นะที่ถึงเวลาที่ควรจะไปพบแพทย์ได้แล้ว และเราควรจะเริ่มกระบวนการเด็กหลอดแก้ว หรือ IVF / ICSI เลยหรือไม่ คู่สมรสจะถือว่ามีภาวะมีบุตรยากก็ต่อเมื่อแต่งงานอยู่ด้วยกันมีเพศสัมพันธ์สม่ำเสมอ 2-3 ครั้ง/สัปดาห์ โดยไม่ได้คุยกำเนิดเลยมานานกว่า 1 ปี แล้วยังไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ถึงจะเรียกว่าคู่ของคุณมีภาวะมีบุตรยาก หากถามว่าเมื่อไหร่ควรจะมาปรึกษาคุณหมอแล้ว จริงๆต้องบอกว่าการตรวจเบื้องต้นเกี่ยวกับการมีบุตรสามารถทำได้ตั้งแต่ยังไม่เข้าสู่เกณฑ์ภาวะมีบุตรยาก เหมือนเป็นการ check up ร่างกายเบื้องต้นไว้ก่อนว่าเรามีแนวโน้มที่จะมีบุตรยาก หรือมีโรคอะไรที่ต้องเตรียมตัวก่อนจะมีบุตรหรือไม่ หรือร่างกายยังขาดภูมิคุ้มกันใดบ้างที่ต้องรีบฉีดวัคซีนไว้ก่อนจะปล่อยมีบุตร แต่ในกรณีที่เราเข้าเกณฑ์ภาวะมีบุตรยากแล้วก็ไม่ควรรอช้า สามารถเข้าปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเกี่ยวกับภาวะมีบุตรยากหรือแพทย์เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ได้เลยส่วนอีกกลุ่มหนึ่งที่อยากแนะนำให้รีบเข้าพบแพทย์เลยคือกลุ่มหญิงที่แต่งงานและอายุเกิน 35 ปีแล้ว เมื่อตั้งใจปล่อยมีบุตรไม่จำเป็นต้องรอให้ถึง 1 ปี เพียงแค่ 6 เดือนหากปล่อยแล้วลูกยังไม่มาตามนัด แนะนำให้เข้ามาพูดคุยปรึกษากับคุณหมอได้เลย เพราะยิ่งปล่อยให้นานไปอายุที่เพิ่มขึ้นก็จะทำให้จำนวนไข่และที่สำคัญคือคุณภาพไข่ลดน้อยถอยลงไปทุกที หากคู่ใดรู้ตัวว่าเริ่มเข้าเกณฑ์จะมีลูกยากแล้วก็อย่ารอช้า รีบเดินหน้าปรึกษาแพทย์เพื่อลูกน้อยที่น่ารักของเรากันค่ะ

 

ก่อนเข้าปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับภาวะมีบุตรยากต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ?

อันที่จริงแล้วไม่อยากให้คนไข้กังวลมากว่าจะต้องเตรียมตัวอย่างไร ช่วงไหนถึงพบแพทย์ได้ ต้องรอมีประจำเดือนมาก่อนหรือไม่ เพราะในครั้งแรกที่ต้องการเข้าปรึกษาคุณหมอ แนะนำเอาฤกษ์สะดวกจะดีที่สุด เพราะฝ่ายหญิงถึงแม่ไม่ใช่วันที่ประจำเดือนมา คุณหมอสามารถตรวจอัลตราซาวด์เบื้องต้นเพื่อประเมินมดลูกและรังไข่ก่อนได้ว่ามีโรคหรือภาวะอะไรที่ต้องแก้ไขก่อนการมีบุตรหรือไม่ ส่วนฝ่ายชายเองตามหลักแล้วควรงดหลั่งน้ำอสุจิก่อนมาเก็บตรวจเป็นเวลา 3-5 วัน แต่หากคุณผู้ชายมีภาระงานมาก หรือไม่สะดวกในการเดินทางไปมาหลายครั้งก็สามารถเก็บน้ำอสุจิตรวจได้แม้ไม่ได้งดหลั่งน้ำอสุจิมาตามเกณฑ์ก็ตาม หากคุณหมอแนะนำให้เจาะเลือดก่อนเริ่มการรักษาก็ไม่จำเป็นที่จะต้องงดน้ำงดอาหารมาก่อนสามารถเจาะเลือดได้เลย เนื่องจากในการพบแพทย์ครั้งแรกเราจะเน้นไปที่การพูดคุย ตรวจร่างกายและตรวจเลือดเบื้องต้นเพื่อใช้ในการวินิจฉัยหาสาเหตุของภาวะมีบุตรยากและวางแนวทางการรักษาต่อไป ดังนั้นจึงไม่ได้มีขั้นตอนอะไรที่ยุ่งยากมาก แต่หากเข้าสู่กระบวนการรักษาแล้วทางแพทย์และพยาบาลจะมีการแนะนำคนไข้ทุกครั้งว่าการนัดครั้งต่อๆไปคนไข้ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง แต่มีสิ่งสำคัญที่อยากเน้นย้ำให้คนไข้เตรียมมาด้วยคือสำเนาทะเบียนสมรส เนื่องจากปัจจุบันกฏหมายค่อนข้างเข้มงวดกับการรักษาด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ทั้งฉีดน้ำเชื้อเข้าโพรงมดลูก (IUI) และเด็กหลอดแก้ว (IVF/ICSI) ว่าจำเป็นจะต้องมีการจดทะเบียนเพื่อให้เป็นคู่สมรสที่ถูกต้องตามกฏหมาย ถึงจะเริ่มการรักษาในขั้นตอนดังกล่าวได้