Skip to content Skip to footer

การทำ IUI คืออะไร ?

การทำ IUI คืออะไร

การทำ IUI ทางเลือกการรักษาภาวะมีบุตรยากสเต็ปแรกของคู่รักที่อยากมีลูก

ปัญหาการมีบุตรยาก กลายเป็นเรื่องปวดใจสำหรับคู่รักบางคู่ที่ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ด้วยวิธีทางธรรมชาติ ทั้งที่มีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ และไม่ได้คุมกำเนิดในช่วงระยะเวลา 1 ปี การทำ IUI เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคู่รักที่อยากมีลูก เพราะช่วยเพิ่มโอกาสสำเร็จในการตั้งครรภ์ 10%
แต่ในปัจจุบันการรักษาภาวะมีบุตรยาก มีให้เลือกหลายวิธี ทั้งเด็กหลอดแก้ว IVF (In-vitro Fertilization) และ IUI ซึ่งทั้งสองวิธีดังกล่าวมีกระบวนการที่แตกต่างกัน และมีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสของการปฏิสนธิมากกว่าวิธีการทางธรรมชาติ

บทความนี้เราจะมาเจาะลึกถึงการทำ IUI เพื่อความเข้าใจถึงกระบวนการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธีการ IUI ที่มีทั้งข้อดีและข้อควรระวัง และความเหมาะสมสำหรับคู่รัก รวมทั้งการเตรียมตัวรักษา เพื่อประกอบการตัดสินใจของคู่รักที่อยากมีลูก

การทำ IUI คืออะไร

IUI : Intrauterine insemination หรือการฉีดเชื้อผสมเทียม เป็นการฉีดอสุจิเข้าโพรงมดลูก จัดว่าเป็นวิธีที่มีความใกล้เคียงกับวิธีธรรมชาติมากที่สุด เพราะ IUI คือการนำอสุจิที่ผ่านการคัดเลือกแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นตัวที่แข็งแรงฉีดเข้าไปในโพรงมดลูกในวันที่ฝ่ายหญิงมีการตกไข่ โดยตัวอสุจิจะว่ายไปปฏิสนธิกับไข่ที่ท่อนำไข่เอง วิธีการรักษา IUI เป็นการสร้างโอกาสให้อสุจิได้ผสมกับไข่ได้ง่ายกว่าปกติ เพิ่มเปอร์เซ็นต์การประสบความสำเร็จในการปฏิสนธิ ซึ่งการทำ IUI ฝ่ายชายควรมีตัวอสุจิที่แข็งแรงหลังการผ่านการคัดกรองแล้ว 5-10 ล้านตัวขึ้นไป หากมีน้อยกว่านั้นโอกาสตั้งครรภ์จะน้อยตามไปด้วย

การรักษาแบบ IUI จะใช้เมื่อใด

การฉีดเชื้อผสมเทียมเป็นการรักษาเบื้องต้นของการรักษาภาวะมีบุตรยากจากหลายสาเหตุ เช่น
ฝ่ายชายมีความผิดปกติ โดยมีจำนวนอสุจิน้อยหรือการเคลื่อนไหวของตัวอสุจิลดลง
ฝ่ายหญิงมีภาวะปากมดลูกที่ไม่เป็นมิตร และมีปัญหามูกปากมดลูก
คู่สมรสที่ไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์เนื่องจากพิการ บาดเจ็บ หรือมีปัญหาอื่น เช่น หลั่งเร็วเกินไป
สำหรับการรักษาภาวะมีบุตรยาก โดยการทำ IUI นั้น ไม่เหมาะสำหรับฝ่ายหญิงที่เป็นโรคท่อนำไข่รุนแรง ท่อนำไข่ตัน 2 ข้าง มีประวัติติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน หรือปัญหาทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ และผู้ที่มีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) ซึ่งโดยปกติเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกจะเจริญเติบโตอยู่ภายในโพรงมดลูก แต่ถ้าเยื่อบุโพรงมดลูกไปเจริญที่อื่นที่ไม่ใช่ในโพรงมดลูก จะเรียกว่าเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

ขั้นตอนการทำ IUI

ในขั้นแรกแพทย์จะใช้ยากระตุ้นการตกไข่ ซึ่งในกรณีนี้ จำเป็นต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดรอบคอบเพื่อกำหนดว่าไข่จะโตเต็มที่เมื่อใด เนื่องจากขั้นตอน IUI จะดำเนินการในช่วงเวลาการตกไข่ โดยปกติประมาณ 24-36 ชั่วโมง หลังจากที่ฮอร์โมนลูทิไนซิง (Luteinizing hormone: LH) เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าการตกไข่จะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า
ส่วนขั้นตอนในห้องปฏิบัติการนั้น แพทย์จะทำกระบวนการที่เรียกว่า “การล้างสเปิร์ม” โดยเป็นการดึงสเปิร์มที่มีสุขภาพดีออกมาในปริมาณที่เข้มข้น ซึ่งกระบวนการนี้จะช่วยกำจัดสารเคมีในน้ำอสุจิ ที่อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาในมดลูกและทำให้การตั้งครรภ์เกิดขึ้นได้ยาก
มาสู่ขั้นตอนการทำ IUI แพทย์จะสอดท่ออ่อนที่บางและยืดหยุ่นเข้าไปทางปากมดลูกและเข้าสู่มดลูกของฝ่ายหญิง และใช้เข็มฉีดยาขนาดเล็กต่อกับท่อนั้น เพื่อสอดสเปิร์มผ่านท่อเข้าไปในมดลูกโดยตรง กระบวนการนี้ถือเป็นการเพิ่มจำนวนเซลล์อสุจิที่วางอยู่ในมดลูกให้มากที่สุด เป็นการเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ ซึ่งการตั้งครรภ์จะเกิดขึ้นหากตัวอสุจิปฏิสนธิกับไข่ และไข่ที่ปฏิสนธิฝังอยู่ในเยื่อบุโพรงมดลูก

เตรียมตัวอย่างไรสำหรับการทำ IUI

คู่รักที่กำลังเข้ารักษาภาวะมีบุตรยากด้วยการทำ IUI เมื่อเข้าสู่กระบวนการควรตรวจสุขภาพและทดสอบภาวะเจริญพันธุ์ให้ละเอียดถี่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็น การตรวจมดลูกด้วยการอัลตร้าซาวด์ การวิเคราะห์น้ำอสุจิของฝ่ายชายว่ามีความแข็งแรงและมีปริมาณที่เหมาะสมหรือไม่ การตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STIs) และโรคติดเชื้ออื่นๆ รวมทั้งการตรวจเลือดทั้งของฝ่ายชายและฝ่ายหญิงด้วย ซึ่งในระหว่างการรักษานั้น ทางแพทย์จะแนะนำให้ฝ่ายหญิงรับประทานกรดโฟลิกอย่างน้อย 3 เดือนก่อนการรักษาด้วยวิธี IUI
สำหรับการทำ IUI นับว่าเป็นวิธีการรักษาที่ไม่จำเป็นต้องวางยาสลบฝ่ายหญิง เพราะกระบวนการรักษาไม่ได้ก่อให้เกิดการเจ็บปวด และนับว่าเป็นวิธีการรักษาที่มีความเสี่ยงต่ำเมื่อเทียบกับการรักษาภาวะมีบุตรยากแบบอื่น ๆ โดยมีความเสี่ยง ดังนี้
· กรณีถ้ามีไข่หลายใบอาจเกิดโอกาสตั้งครรภ์ลูกแฝดหรือมากกว่านั้น และอาจมีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดและน้ำหนักเด็กแรกเกิดน้อย
· การติดเชื้อ ถือว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก ซึ่งอาจทำให้ฝ่ายหญิงมีเลือดออกทางช่องคลอดเล็กน้อย
· การทานยากระตุ้นรังไข่มากเกินไป ทำให้เกิดผลข้างเคียงรังไข่ของฝ่ายหญิงเกิดการบวมและปวด
· ภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นเกินขนาด Ovarian Hyperstimulation Syndrome (OHSS) อาจเกิดขึ้นเมื่อได้รับยามากเกินไป และอาจเกิดอาการท้องอืด

ข้อควรปฏิบัติหลังการฉีดเชื้อ

หลังจากการฉีดอสุจิเข้าสู่โพรงมดลูกแล้ว ฝ่ายหญิงสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ และยังสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ แต่หากเกิดอาการผิดปกติ เช่น เกิดอาการปวดท้องหรือเลือดออกเล็กน้อยก็สามารถรับประทานยาแก้ปวดได้ อย่างไรก็ดีในกรณีที่เกิดความผิดปกติบางอย่าง อาจต้องรีบพบแพทย์ทันที เช่น อาการปวดอุ้งเชิงกรานหรือปวดท้องอย่างรุนแรง คลื่นไส้และอาเจียน หายใจถี่ น้ำหนักเพิ่มขึ้นกะทันหัน และอาการวิงเวียนศีรษะหรือหน้ามืด เป็นต้น

อัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์ด้วยการทำ IUI
สำหรับคู่รักที่อยากมีลูก การรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยการทำ IUI จะขึ้นอยู่กับ ‘อายุ’ เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดของการตั้งครรภ์ ทางการแพทย์ส่วนใหญ่จะแนะนำให้คู่รักรักษาภาวะมีบุตรยากก่อนอายุ 40 ปี เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ ทั้งนี้พบว่า อัตราความสำเร็จของการทำ IUI มีดังนี้
· อายุ 20 – 30 ปี โอกาสการตั้งครรภ์ 17.6%
· อายุ 31 – 35ปี โอกาสการตั้งครรภ์ 13.3%
· อายุ 36 – 38 ปี โอกาสการตั้งครรภ์ 13.4%
· อายุ 39 – 40 ปี โอกาสการตั้งครรภ์ 10.6%
· อายุมากกว่า 40 ปี โอกาสการตั้งครรภ์ 5.4%

ทำ IUI ดีกว่า IVF หรือไม่?

การตัดสินใจระหว่างการรักษาภาวะมีบุตรยากนั้น คู่รักหลายๆ คู่ที่อยากมีลูก ส่วนใหญ่มักจะตัดสินใจเลือกวิธีการทำ IUI ก่อนทำ IVF เนื่องจากการทำ IUI มีราคาที่ไม่สูงมาก แต่ทั้งนี้การเลือกวิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ด้วยว่าระหว่าง IUI หรือ IVF แบบไหนเหมาะสมสำหรับคู่รักมากกว่ากัน ซึ่งขึ้นอยู่กับอายุหรือสาเหตุพื้นฐานของภาวะมีบุตรยากของแต่ละคู่ เพราะจริงๆ แล้ว การรักษาแบบหนึ่งไม่ได้ดีไปกว่าการรักษาแบบอื่น แต่การเลือกวิธีหนึ่งที่เหมาะสมอาจทำให้คุณมีโอกาสตั้งครรภ์ได้สูงขึ้น

ควรทำ IUI ก่อนทำ IVF กี่รอบ?

แพทย์ผู้ทำการรักษาภาวะมีบุตรยาก ส่วนใหญ่จะแนะนำให้คู่รักทำ IUI จำนวน 3 รอบก่อนที่จะดำเนินการรักษาด้วยวิธีทำ IVF แต่หากคุณอายุเกิน 40 ปี แพทย์อาจจะแนะนำให้ทำ IUI เพียงรอบเดียวก่อนที่จะเปลี่ยนไปทำเด็กหลอดแก้ว เนื่องจากอัตราความสำเร็จในการทำเด็กหลอดแก้วนั้นสูงกว่า หากคุณไม่สามารถตั้งครรภ์หลังจากทำ IUI ครบ 3 รอบ แพทย์จะพิจารณาการรักษาในสเต็ปถัดไป
เมื่อทราบแล้วว่าการทำ IUI เป็นวิธีการรักษาภาวะมีบุตรยากที่มีกระบวนการและวิธีการรักษาอย่างไรแล้วนั้น หากคุณต้องการปรึกษา หรือสนใจที่จะเข้ารับการรักษาภาวะมีบุตรยาก Genesis Fertility Center คลินิกสำหรับผู้มีบุตรยาก ที่มีบริการทางการแพทย์ โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยในการเจริญพันธ์ เพื่อแก้ปัญหาผู้ที่กำลังประสบภาวะมีบุตรยาก ตั้งแต่การตรวจหาสาเหตุ ตลอดจนการเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม คุ้มค่า และมีโอกาสเห็นผลสูงสุด พร้อมประเมินค่าใช้จ่ายเบื้องต้น และดำเนินการในกระบวนการต่อไป

สามารถปรึกษาได้ที่

Call Center 097-484-5335
เวลาทำการ : จันทร์ – ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 9.00 – 20.00 น. หรือ
เสาร์ – อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 8.00 – 20.00 น.