Skip to content Skip to footer

อายุของแม่มีผลต่อการตั้งครรภ์หรือไม่

อายุของแม่มีผลต่อการตั้งครรภ์หรือไม่

ตรวจโครโมโซมมีความสำคัญต่อคุณแม่ที่มีอายุมาก

ปัจจุบันด้วยค่านิยมของผู้หญิงไทยที่เปลี่ยนแปลงจากในอดีต ทั้งในด้านของการศึกษาที่ต้องเรียนให้จบ ความมุ่งมั่นเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพการงาน ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้หญิงไทยแต่งงานช้าลง และการมีอายุที่เพิ่มขึ้นของฝ่ายหญิง เป็นสาเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้คู่รักหลายคู่ต้องเผชิญกับภาวะมีบุตรยาก รวมทั้งเมื่อตั้งครรภ์ยังมีความเสี่ยงต่างๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ความผิดปกติโครโมโซมของทารกในครรภ์ ตลอดจนการเกิดภาวะแทรกซ้อนในตัวคุณแม่ที่มีผลต่อเด็กในครรภ์

ทำไมอายุมากมีความเสี่ยงต่อการมีลูกยาก

อายุและภาวะเจริญพันธุ์ของผู้หญิงมีความสัมพันธ์กัน แม้ว่าผู้หญิงจะเกิดมาพร้อมกับไข่จำนวนมากกว่า 1 ล้านฟอง และจำนวนนั้นจะลดลงตามธรรมชาติเมื่ออายุมากขึ้น คุณภาพของไข่ที่คุณมีก็ลดลงเช่นกัน และภาวะเจริญพันธุ์ก็จะลดลงตามไปด้วย ผู้หญิงจะมีแนวโน้มเจริญพันธุ์มากที่สุดในช่วงอายุ 20 ปี และภาวะเจริญพันธุ์ของคุณเริ่มลดลงเมื่ออายุประมาณ 32 ปี และลดลงอย่างรวดเร็วมากขึ้นเมื่ออายุประมาณ 35 ปี โดยมีโอกาสตั้งครรภ์ดังนี้
· ผู้หญิงในช่วงอายุ 20 กลางๆจะมีโอกาสตั้งครรภ์ 20% ที่จะตั้งครรภ์หลังจากคู่รักพยายามมา 3 เดือน
· ผู้หญิงในช่วงอายุ 35 ปี มีโอกาสตั้งครรภ์ตามธรรมชาติเหลือเพียง 12% หลังจากคู่รักพยายาม 3เดือน
· ผู้หญิงในช่วงอายุหลัง 40 ปี โอกาสตั้งครรภ์ตามธรรมชาติเพียง 7% หลังจากคู่รักพยายาม 3 เดือน

นิยามสตรีที่เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์

ความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ได้นิยามของ“สตรีอายุมาก” (Advanced maternal age) โดยทั่วไปหมายถึงสตรีตั้งครรภ์อายุ 35 ปีขึ้นไป โดยอ้างอิงจากอายุที่มีความเสี่ยงในการเกิดทารกมีภาวะดาวน์ซินโดรม และความผิดปกติของจำนวนชุดโครโมโซมมากขึ้น (Aneuploidy) การเสียชีวิตหรือทุพพลภาพในระหว่างการตั้งครรภ์ รวมทั้งความเสี่ยงต่อภาวะมีบุตรยาก

อายุมีผลต่อการตั้งครรภ์อย่างไร

· ความเสี่ยงต่อภาวะมีบุตรยาก (infertility) เพราะผู้หญิงเกิดมาพร้อมกับจำนวนไข่ในรังไข่ที่มีจำกัด และเซลล์ไข่จะค้างการแบ่งตัวอยู่ที่ระยะไมโอซิส I (Meiosis I) จนกระทั่งตกไข่จึงจะมีการแบ่งตัวต่อจนสมบูรณ์ โดยจะมีไข่บางส่วนฝ่อสลายไปตามกาลเวลา ดังนั้นเมื่ออายุมากขึ้นโอกาสที่จะเหลือไข่ที่มีความสมบูรณ์จะเหลือจำนวนน้อยลง และมีโอกาสที่การแบ่งตัวต่อของเซลล์ไข่มีความผิดพลาดได้ และเกิดเป็นเซลล์ไข่ที่มีจำนวนโครโมโซมผิดปกติ
· ความเสี่ยงต่อเกิดภาวะแทรกซ้อน ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะมีภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ในอายุที่สูงขึ้น เช่น เบาหวานและความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก ซึ่งพบว่า ผู้หญิงที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป มีโอกาสเกิดภาวะความดันโลหิตสูงในการตั้งครรภ์สูงกว่าสตรีอายุ 30-34 ปี ถึง 2-4 เท่า ซึ่งมีความเสี่ยงการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษได้
· ความผิดปกติของรก (Placental problems) ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์และมีอายุ 35 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงเกิดภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด (Placental abruption) ตลอดยังมีความเสี่ยงภาวะรกเกาะต่ำ (Placenta previa) และจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์อายุมาก
· ความผิดปกติของจำนวนโครโมโซม (Chromosome abnormality) จากการที่เซลล์ไข่แบ่งตัวค้างอยู่ในระยะ metaphase I ขณะอยู่ในครรภ์ ซึ่งในระยะดังกล่าว โครโมโซมจะถูกเรียงอยู่ตรงกลางเซลล์ และเมื่อมีการตกไข่ จะเกิดการแบ่งตัวต่อ โดยมีการแยกขาของโครโมโซมออกจากกัน ซึ่งอายุที่เพิ่มขึ้น เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดการแบ่งตัวของเซลล์ที่ผิดปกติ แบบที่เรียกว่า non-disjunction นั่นคือ ขาของโครโมโซมไม่แยกกัน ทำให้เซลล์ที่แบ่งตัวเสร็จสิ้น มีจำนวนโครโมโซมที่ผิดปกติ
· ความผิดปกติแต่กำเนิด (Congenital anomalies) เกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิดชนิดที่โครโมโซมปกติ เพิ่มขึ้นตามอายุสตรีตั้งครรภ์ที่เพิ่มขึ้นโดยไม่สัมพันธ์กับ aneuploidy เช่นกัน โดยเฉพาะความผิดปกติของหัวใจ ความผิดปกติอื่นๆที่อาจพบได้อีก ได้แก่ esophageal atresia, hypospadias และ craniosynostosis นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงความผิดปกติของยีน (Gene abnormalities)

ตรวจโครโมโซมมีความสำคัญอย่างไร

ปัจจุบันคู่รักที่มีอายุมาก มักมีความกังวลในเรื่องภาวะความผิดปกติโครโมโซม ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความผิดปกติของโครโมโซม พบได้บ่อยมีความสัมพันธ์กับอายุของมารดาที่มากขึ้น โดยมารดาอายุ 25 ปี จะมีโอกาสพบทารกที่มีภาวะกลุ่มอาการดาวน์ ประมาณ 1:1100 ต่อการคลอดมีชีพ แต่จะสูงขึ้นเป็น 1:350 ในมารดาอายุ 35 ปี และสูงถึง 1:100 ในมารดาอายุ 40 ปี
โอกาสความผิดปกติโครโมโซมของทารก อาจเกิดได้หลายลักษณะ เช่น มีจำนวนโครโมโซมเกินมา 1 แท่ง (Trisomy) ขาดไป 1 แท่ง (Monosomy) หรือมีการขาดหายไปบางส่วนของโครโมโซม (microdeletion) จากปกติมนุษย์มีจำนวนโครโมโซมทั้งหมด 23 คู่ หรือ 46 โครโมโซม โดยทารกที่มีโครโมโซมผิดปกติจะมีโอกาสเกิดอาการ ดังนี้
กลุ่มอาการดาวน์ (Trisomy 21) เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่ 21 เกินมา 1 โครโมโซม เป็นภาวะผิดปกติทางโครโมโซมที่พบได้บ่อยที่สุด ทารกจะมีการพัฒนาการช้าและมีไอคิวค่อนข้างต่ำ
กลุ่มอาการเอ็ดเวิร์ด (Trisomy 18) เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่ 18 เกินมา 1 โครโมโซม เด็กมักเสียชีวิตภายใน 1 ปี โดยจะมีลักษณะศีรษะและขากรรไกรเล็ก ใบหูอยู่ต่ำกว่าปกติ มีหัวใจและไตพิการ ปอดและทางเดินอาหารผิดปกติ
กลุ่มอาการพาทัวร์ (Trisomy 13) เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่ 13 เกินมา 1 โครโมโซม ทารกมักจะเสียชีวิตภายในไม่กี่สัปดาห์หลังคลอด โดยจะมีปากแหว่ง เพดานโหว่ ตาเล็ก ใบหูต่ำ หูหนวก สมองพิการ

ตั้งครรภ์แบบไหนควรตรวจโครโมโซม

คู่รักที่มีอายุมากและมีลูกยาก และเลือกวิธีการรักษาโดยเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ทำ IVF หรือการทำเด็กหลอดแก้ว ICSI ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำให้ตัวอ่อนเกิดการปฏิสนธิภายนอกร่างกายก่อน แล้วจึงย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูกของคุณแม่ภายหลัง โดยนักวิทยาศาสตร์จะเลือกตัวอ่อนจากรูปร่างลักษณะทางกายภาพเท่านั้น แต่ไม่ได้บ่งบอกว่า ตัวอ่อนจะมีโครโมโซมปกติ ดังนั้นการตั้งครรภ์ด้วยการทำ IVF การทำ ICSI ควรทำการตรวจโครโมโซม เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดดาวน์ซินโดรมและกลุ่มอาการต่างๆ ในทารก

ใครควรตรวจโครโมโซมตัวอ่อนบ้าง?

ผู้หญิงที่ควรรับการตรวจโครโมโซมตัวอ่อน ได้แก่

  • ผู้หญิงที่อายุ 35 ปีขึ้นไปและกำลังเข้าสู่กระบวนการทำ ICSI
  • ครอบครัวที่เคยมีประวัติแท้งบุตรมาแล้ว 2 ครั้งขึ้นไป
  • ครอบครัวที่มีสมาชิกในครอบครัวตั้งครรภ์และเด็กทารกมีความผิดปกติทางโครโมโซมหรือพันธุกรรม
  • ครอบครัวที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคเกี่ยวกับพันธุกรรม กลุ่มอาการต่างๆ เกี่ยวกับโครโมโซม หรือมีโรคประจำตัวที่เป็นผลกระทบมาจากความผิดปกติของโครโมโซม
  • ครอบครัวที่เคยผ่านการทำเด็กหลอดแก้วทั้งแบบ IVF หรือ ICSI มาแล้ว ตัวอ่อนคุณภาพดี แต่ไม่ตั้งครรภ์

วิธีการตรวจโครโมโซมตัวอ่อน NGS

ปัจจุบันการตรวจโครโมโซมตัวอ่อนมีด้วยกันหลากหลาย แต่เทคโนโลยีการตรวจหาความผิดปกติของโครโซมแบบ Next Generation Sequencing (NGS) ถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่วิเคราะห์หาลำดับเบสใน DNA หรือสารพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต โดยตรวจความผิดปกติของโครโมโซมได้ทั้ง 24 โครโมโซมที่มีความละเอียดสูงและมีความถูกต้องแม่นยำสูงมากถึง 99.9% เมื่อเทียบกับเทคนิคการตรวจอื่นๆ จึงทำให้ NGS ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในการตรวจโครโมโซมตัวอ่อน โดยข้อดีของการตรวจ NGS มีดังนี้
1.เทคโนโลยีวิเคราะห์พันธุกรรม โดยการตรวจการเกินมาหรือขาดหายไปของจำนวนโครโมโซม ซึ่งเป็นการลดปัญหาที่ตัวอ่อนไม่ฝังตัว การแท้งในช่วงสามเดือนแรก
2.สามารถตรวจความผิดปกติของโครโมโชมได้ครอบคลุมทั้ง 24 โครโมโซมได้ในครั้งเดียว ด้วยความแม่นยำสูง และมีอัตราการเกิดการผิดพลาด (False positive rate) ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับเทคนิค อื่นๆ
3.การตรวจ NGS เป็นการเตรียมความพร้อมในการมีบุตร เป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่สำคัญและจำเป็นของกระบวนการทำ IVF หรือ ICSI เพราะเป็นการป้องกันและลดความเสี่ยงต่อภาวะการมีบุตรยาก ที่อาจเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมที่มีความรุนแรง เช่น โรคดาวน์ซินโดรม เป็นต้น
4.NGS เป็นเทคนิคการตรวจพันธุกรรมตัวอ่อนก่อนการฝังตัวอ่อนกลับเข้ามดลูก คัดกรองโครโมโซมของตัวอ่อนทั้ง 23 คู่ เพื่อเลือกตัวอ่อนที่แข็งแรงสมบูรณ์ที่สุดและใส่กลับเข้าไปในโพรงมดลูกช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้สูงถึง 72%
5.คุณสมบัติของเทคโนโลยีที่เหนือกว่าเทคโนโลยีอื่นๆ และสามารถทราบผลตรวจได้ภายใน 7-10 วัน เป็นการตรวจที่สะดวกรวดเร็ว และสามารถวิเคราะห์ได้ทีละหลายตัวอย่าง

หากคุณคือคู่รักที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป และมีภาวะมีบุตรยากโดยเลือกเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ การทำ IVF หรือการทำเด็กหลอดแก้ว การทำ ICSI มีความกังวลเกี่ยวกับความผิดปกติของโครโมโซม สามารถเข้ารับการตรวจโครโมโซม ได้ที่ Genesis Fertility Center คลินิกสำหรับผู้มีบุตรยาก มีบริการครบวงจร ทุกบริการเพื่อแก้ปัญหามีบุตรยาก ตั้งแต่การตรวจหาสาเหตุ ตลอดจนการเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสม คุ้มค่าและมีโอกาสเห็นผลสูงสุด พร้อมประเมินค่าใช้จ่ายเบื้องต้นอย่างโปร่งใส

สามารถปรึกษาได้ที่

Call Center 097-484-5335
เวลาทำการ : จันทร์ – ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 9.00 – 20.00 น. หรือ
เสาร์ – อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 8.00 – 20.00 น.