Skip to content Skip to footer

การเลี้ยงตัวอ่อนเพื่อทำเด็กหลอดแก้วมีกี่ระยะ

การเลี้ยงตัวอ่อนเพื่อทำเด็กหลอดแก้วมีกี่ระยะ

ระยะเวลาในการเลี้ยงตัวอ่อนเพื่อทำเด็กหลอดแก้วกับโอกาสในการตั้งครรภ์

สำหรับคู่สามี-ภรรยาที่กำลังต่อสู้กับภาวะมีบุตรยาก ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเทคโนโลยีการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย หรือที่หลาย ๆ คนมักจะรู้จักกันในชื่อของการทำเด็กหลอดแก้ว, การทำ IVF (In-vitro Fertilization) หรือการทำ ICSI (Intracytoplasmic Sperm Injection) คือ หนึ่งในเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ที่สามารถช่วยมอบความหวังและสานต่อความฝันให้กับครอบครัวที่อยากมีลูกได้อย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตามเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นการปฏิสนธิภายนอกร่างกายในห้องปฏิบัติการแล้วนั้น การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF / ICSI) ก็ย่อมมาพร้อมด้วยขั้นตอนสำคัญมากมายที่คู่สามี-ภรรยาที่กำลังประสบกับภาวะมีบุตรยากจะต้องศึกษาทำความเข้าใจและเตรียมตัวให้พร้อม โดยหนึ่งในนั้น คือ ขั้นตอนของ “การเลี้ยงดูตัวอ่อน” เพื่อช่วยให้ไข่ที่ได้ผสมกับสเปิร์มเป็นที่เรียบร้อยแล้วมีความพร้อมสำหรับการฝังตัวในมดลูก เพราะฉะนั้นแล้วในวันนี้ Genesis Fertility Center (GFC) จึงมีข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับการเลี้ยงตัวอ่อนเพื่อทำเด็กหลอดแก้วมาฝากว่าที่คุณพ่อและคุณแม่มือใหม่กันในบทความนี้

การเลี้ยงตัวอ่อน คืออะไร?

หลังจากที่คู่สามี-ภรรยาที่กำลังประสบกับภาวะมีบุตรยากได้ผ่านขั้นตอนของการเก็บเซลล์ไข่และคัดเชื้ออสุจิมาเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น ทางทีมแพทย์ก็จะเริ่มต้นกระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว ทั้งในรูปแบบ IVF และ ICSI โดยการนำเซลล์ไข่กับอสุจิมาปฏิสนธิกันภายในห้องปฏิบัติการจนได้ออกมาเป็นตัวอ่อน ก่อนที่ตัวอ่อนเหล่านี้จะถูกนำไปเพาะเลี้ยงโดยนักวิทยาศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเลี้ยงตัวอ่อนโดยเฉพาะ ภายในตู้เลี้ยงตัวอ่อนที่มีการควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น ก๊าซ และความเป็นกรด-ด่าง ให้อยู่ในสภาวะที่ใกล้เคียงกับสภาวะภายในร่างกายของมนุษย์มากที่สุด เพื่อเป้าหมายที่สำคัญในการช่วยกระตุ้นพัฒนาการและการเติบโตของตัวอ่อนให้อยู่ในระยะที่จะสามารถฝังตัวในมดลูกและช่วยทำให้โอกาสในการตั้งครรภ์ของผู้มีบุตรยากเพิ่มสูงขึ้น

การเลี้ยงตัวอ่อนมีกี่ระยะ ?

สำหรับกระบวนการในการเลี้ยงตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการหลังจากที่ผู้มีบุตรยากได้มาเข้ารับบริการทำเด็กหลอดแก้วเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น จะสามารถแบ่งออกได้ทั้งหมดเป็น 3 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 หรือ ระยะไซโกต (Zygote)
โดยส่วนใหญ่แล้วเรามักจะเรียกระยะดังกล่าวนี้ว่า Day 1 ของการทำเด็กหลอดแก้ว เนื่องจากระยะดังกล่าวจะเป็นระยะที่เริ่มต้นนับหลังจากที่ไข่และอสุจิผสมกันแล้ว 0-24 ชั่วโมง โดยความเปลี่ยนแปลงที่สามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนในระยะไซโกต คือ การเกิด 2 Pronuclei หรือ วงกลม 2 วงที่ได้มาจากเซลล์อสุจิของพ่อและเซลล์ไข่ของแม่อย่างละ 1 เซลล์ โดยหาก 2 Pronuclei เกิดขึ้นภายในระยะเวลา 16-18 ชั่วโมงหลังจากที่ไข่และอสุจิได้มีการผสมกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็จะหมายความว่าไข่และอสุจิจากกระบวนการ IVF และ ICSI เกิดการปฏิสนธิกันและสามารถเจริญเติบโตไปเป็นตัวอ่อนต่อได้

ระยะที่ 2 หรือ ระยะคลีเวจ (Cleavage)
หลังจากที่ไข่และอสุจิผ่านการปฏิสนธิมาแล้ว 24-72 ชั่วโมง หรือที่เรานิยมเรียกกันว่า Day 3 ของการทำ IVF และ ICSI ตัวอ่อนก็จะเริ่มเกิดการแบ่งตัวในลักษณะที่เป็นแบบทวีคูณจาก 1 เซลล์เป็น 2 เซลล์ จาก 2 เซลล์เป็น 4 เซลล์ และจาก 4 เซลล์เป็น 8 เซลล์ตามลำดับ จนกระทั่งเซลล์มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และเกิดการรวมตัวหรือยึดเกาะกันในรูปแบบที่เรียกว่า Compacted Morula โดย Morula ที่ดีควรจะประกอบไปด้วยเซลล์จำนวน 16-32 เซลล์รวมตัวอัดแน่นอยู่ด้วยกันเป็นก้อนเดียว

อย่างไรก็ตาม หากในระยะนี้ตัวอ่อนไม่ค่อยเติบโต หรือมีพัฒนาการช้าจนทำให้การแบ่งเซลล์เกิดขึ้นน้อยกว่า 8 เซลล์ นักวิทยาศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเลี้ยงตัวอ่อนหลังจากการทำเด็กหลอดแก้วโดยเฉพาะ จะทำการเจาะเปลือกของตัวอ่อน (Assisted Hatching – AH) เพื่อช่วยให้ตัวอ่อนได้รับสารอาหารต่าง ๆ จากน้ำยาที่ใช้เลี้ยงตัวอ่อนได้ดีมากยิ่งขึ้น อีกทั้งการเจาะเปลือกของตัวอ่อนยังสามารถช่วยทำให้เปลือกบางลงจนทำให้ตัวอ่อนฟักตัวออกมาได้ง่ายมากขึ้น และทำให้สามารถดึงเซลล์จากตัวอ่อนไปทำการตรวจโครโมโซมหรือตรวจวิเคราะห์ทางพันธุศาสตร์ได้อีกด้วย

ระยะที่ 3 หรือ ระยะบลาสโตซิสท์ (Blastocyst)
ระยะบลาสโตซิสท์ (Blastocyst) หรือ Day 5-6 ของการเลี้ยงตัวอ่อนหลังจากกระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF / ICSI) จะเป็นช่วงระยะเวลาประมาณ 120 ชั่วโมงหลังจากที่ไข่และอสุจิผ่านการปฏิสนธิกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยในระยะดังกล่าวนี้ตัวอ่อนจะมีลักษณะที่พิเศษ คือ จะมีเซลล์กลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า Inner cell mass (ICM) อยู่ที่บริเวณข้างใดข้างหนึ่งของตัวอ่อน ซึ่งเซลล์กลุ่มนี้จะพัฒนาขึ้นมาเป็นตัวเด็กในอนาคต และจะมีเซลล์อีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า Trophectoderm (TE) เป็นเซลล์ที่อยู่รอบ ๆ ซึ่งจะพัฒนาขึ้นมาเป็นส่วนของรก นอกจากนี้ตรงกลางของตัวอ่อนก็จะมีลักษณะเป็นโพรงมีน้ำอีกด้วย

โดยในระยะดังกล่าวหลังจากที่มีการทำ IVF หรือ ICSI นี้ ตัวอ่อนจะมีการแบ่งตัวมาจนมีจำนวนเซลล์ประมาณ 80-120 เซลล์ ซึ่งจะถือได้ว่าตัวอ่อนมีความแข็งแรงและมีความพร้อมสำหรับการย้ายกลับไปฝังตัวในมดลูกมากที่สุด ดังนั้นก่อนที่จะมีการย้ายตัวอ่อน ผู้เชี่ยวชาญจะทำการตรวจสอบดูให้แน่ใจว่าตัวอ่อนมีความแข็งแรงและเหมาะสมสำหรับการย้ายตัวอ่อนหรือไม่ นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญก็จะทำการคัดเกรดของตัวอ่อนเพื่อเลือกตัวอ่อนที่แข็งแรงและสมบูรณ์มากที่สุด เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการย้ายตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูกต่อไป

ความแตกต่างของการย้ายตัวอ่อนหลังจากที่ทำเด็กหลอดแก้วในระยะ 3 วัน และ 5 วัน

โดยทั่วไปแล้ว การย้ายตัวอ่อนหลังจากที่มีการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF / ICSI) กลับเข้าสู่โพรงมดลูก จะสามารถทำได้ทั้งหมด 2 ระยะ คือ ระยะคลีเวจ (Cleavage) และ ระยะบลาสโตซิสท์ (Blastocyst) โดยในบางสถานพยาบาลและคลินิกมีบุตรยากอาจมีการเลือกพิจารณาย้ายตัวอ่อนในระยะที่ 2 หรือระยะ 3 วัน เพื่อย้ายเข้าสู่โพรงมดลูกของคุณแม่ผู้มีบุตรยากด้วยข้อจำกัดในเรื่องการเลี้ยงดูตัวอ่อนภายในห้องปฏิบัติการที่ค่อนข้างมีความละเอียดอ่อนเป็นอย่างมาก

ตลอดจนข้อจำกัดเกี่ยวกับโอกาสในการพัฒนาไปสู่ระยะบลาสโตซิสท์ของตัวอ่อนที่ค่อนข้างน้อย ดังนั้นการย้ายตัวอ่อนให้ผู้มีบุตรยากกับในระยะดังกล่าวนี้จึงสามารถช่วยป้องกันความเสี่ยงที่ตัวอ่อนจะหยุดเจริญเติบโตได้ดีมากกว่า แต่อย่างไรก็ตามหากเทียบกับกระบวนการในการตั้งครรภ์โดยธรรมชาติแล้วนั้น ระยะคลีเวจจะถือได้ว่าเป็นระยะที่ตัวอ่อนจะยังอยู่ในท่อนำไข่ ซึ่งจะทำให้ตัวอ่อนอาจจะยังไม่พร้อมสำหรับการฝังตัวในมดลูกเท่าไหร่นัก นอกจากนี้ตัวอ่อนก็ยังมีโอกาสที่จะหยุดการเจริญเติบโตก่อนการฝังตัวได้เช่นกัน

เพราะฉะนั้นแล้วในปัจจุบันนี้ หลาย ๆ คลินิกมีบุตรยากจึงได้มีการเลือกเลี้ยงตัวอ่อนจากกระบวนการ IVF และ ICSI ให้ถึงระยะ 5 วัน หรือระยะบลาสโตซิสท์กันมากขึ้น เพราะนอกจากการเลี้ยงตัวอ่อนให้เติบโตมาจนถึงระยะเวลา 5 วันจะเป็นวิธีการทางธรรมชาติที่สามารถช่วยคัดเลือกตัวอ่อนที่แข็งแรงที่สุดได้แล้วนั้น ตัวอ่อนในระยะบลาสโตซิสท์ยังถือได้ว่าเป็นตัวอ่อนในระยะเดียวกันกับการตั้งครรภ์เองตามธรรมชาติที่จะเข้าไปฝังตัวในโพรงมดลูกเพื่อให้เจริญเติบโตเป็นทารกต่อไปอีกด้วย ดังนั้นอัตราการฝังตัวของตัวอ่อนในระยะบลาสโตซิสท์ที่จะนำไปสู่การตั้งครรภ์ในผู้มีบุตรยากจึงสูงกว่าตัวอ่อนในระยะอื่น ๆ นั่นเอง

สำหรับคู่รักหรือคู่แต่งงานที่อยากมีลูกแต่ประสบปัญหาภาวะมีลูกยาก ที่ Genesis Fertility Center (GFC) คลินิกบริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีบุตรยาก เราพร้อมให้คำปรึกษาและคำแนะนำในการเลือกวิธีการรักษาด้วย เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ Assisted reproductive technology (ART) ไม่ว่าจะเป็นการทำ IUI, IVF หรือ ICSI ที่มีความเหมาะสมกับตัวคนไข้ผู้มีบุตรยาก พร้อมกันนี้เรายังมีบริการตรวจคัดกรองความผิดปกติต่าง ๆ อาทิ การตรวจโครโมโซมตัวอ่อน PGT-A By NGS ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดโดยทีมแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ผู้ชำนาญการด้านสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา เพื่อช่วยให้คนไข้ของเรามีโอกาสได้รับตัวอ่อนที่ดีและมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์มากที่สุด

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ :
Call Center 097-484-5335
เวลาทำการ : จันทร์ – ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 9.00 – 20.00 น. หรือ
เสาร์ – อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 8.00 – 20.00 น.